ชนิดของการกัดสบฟันที่ผิดปกติ

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความสัมพันธ์ของกระดูกขากรรไกรบนและกระดูกขากรรไกรล่างที่ผิดไปจากปกติ ก็ย่อมจะทำให้การกัดสบฟันผิดปกติตามไปด้วย โดยเราสามารถแบ่งการกัดสบฟันที่ผิดปกติได้ดังนี้

1. การกัดสบฟัน คลาส 2 (Class II malocclusion)

เป็นลักษณะที่มีขากรรไกรล่างถอยไปข้างหลังมีคางสั้น คางเล็ก หรือ อาจจะเป็นลักษณะของขากรรไกรบนที่ยื่นไปข้างหน้ามากเมื่อเทียบกับตำแหน่งขากรรไกรล่าง เวลารักษาต้องให้แพทย์วินิจฉัยว่าความผิดปกติอยู่ที่ขากรรไกรบน หรือ ขากรรไกรล่าง หรือทั้ง 2 ขากรรไกร

2. การกัดสบ คลาส 3 (Class III malocclusion)

เป็นลักษณะที่มีขากรรไกรล่างยื่นไปด้านหน้า มีคางยื่น คางใหญ่เด่น โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะของขากรรไกรบนที่ถอยไปด้านหลังมากกว่าปกติร่วมด้วย

3. ภาวะใบหน้าไม่เท่ากัน (Facial asymmetry)

ขากรรไกรเอียง คางเอียง จะมีลักษณะของใบหน้าที่ไม่สมมาตรกันของใบหน้าฝั่งขวาและฝั่งซ้าย โดยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะสบฟันแบบคลาส 3 ร่วมด้วย

4. ภาวะยิ้มเห็นเหงือกเยอะ (Gummy smile)

ภาวะยิ้มเห็นเหงือกเยอะเกิดจากได้หลายสาเหตุ ได้แก่ ภาวะกระดูกขากรรไกรบนยาวหรือยื่นมากเกินไป ภาวะตัวฟันสั้น และภาวะกล้ามเนื้อริมฝีปากมีการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป ภาวะยิ้มเห็นเหงือกเยอะที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดขากรรไกรต้องเป็นชนิดที่เกิดจากขากรรไกรบนยาวหรือยื่นมากเกินไป ส่วนจากสาเหตุอื่นๆสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเหงือก หรือการฉีด botox

5. ภาวะฟันหน้าสบเปิด (Open bite)

ผู้ป่วยจะไม่สามารถกัดฟันหน้าให้ชนกันได้ ภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตำแหน่งของลิ้นขณะกลืนที่ผิดปกติ ลักษณะนิสัยที่ชอบดูดนิ้ว ความผิดปกติของการเจริญเติบโตของขากรรไกรบนล่างที่ไม่สัมพันธ์กัน เช่นมีลักษณะขากรรไกรบนเล็กและถอยไปด้านหลัง ร่วมกับมีขากรรไกรล่างใหญ่

การรักษา

สาเหตุและความผิดปกติเหล่านี้สามารถแก้ไขและรักษาได้ด้วยการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เพื่อให้ทั้งรูปหน้าและการกัดฟันอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีความสมดุล และสวยงามมากที่สุด ถ้าท่านกำลังประสบปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟันสามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้นกับหมอสุรัตน์และทีมแพทย์ของเราได้