จัดฟันโลหะ คืออะไร พร้อมข้อดี-ข้อเสียของการจัดฟันแบบนี้

จัดฟันโลหะ หรือที่เรียกว่าการจัดฟันแบบเหล็ก เป็นการติดเครื่องมือโลหะประเภทยึดติดแน่นกับฟันเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเรียงตัวของฟันไม่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะเช่น ฟันซ้อน ฟันเหยิน ฟันเก เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้ ล้วนกระทบต่อการใช้งานฟันเพื่อบดเคี้ยวอาหาร หรือ ภาพลักษณ์ของคนไข้

ในปัจจุบัน การจัดฟันโลหะนั้นเป็นการจัดฟันที่เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะมีราคาที่ถูกกว่าแบบอื่น สามารถใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เหมาะสำหรับผู้ที่ที่มีฟันแท้ขึ้นครบแล้ว เช่น เด็กอายุราว ๆ 11-13 ปี วัยรุ่น หรือ แม้กระทั่งผู้ใหญ่

แบบการจัดฟัน

การจัดฟันโลหะนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ดังนี้:

  1. จัดฟันโลหะแบบรัดยางทั่วไป (Traditional braces): เป็นการจัดฟันแบบเหล็กที่เป็นที่นิยมมากที่สุด โดยจะใช้เครื่องมือจัดฟันยึดติดกับผิวฟันและลวดจัดฟันจะถูกรัดอยู่ในตัวแบร็คเก็ตด้วยยางจัดฟัน โดยแพทย์จะทำการปรับตัวลวดเพื่อใช้ควบคุมความแน่นและทิศทางการเคลื่อนตัวของฟัน
  2. การจัดฟันแบบไร้ยาง (Self ligating braces): หลักการทำงานเหมือนกับแบบรัดยางข้างต้น แต่แทนที่จะใช้ยางรัด การจัดฟันแบบนี้จะใช้ตัวยึดแบบพิเศษแทนเพื่อขึงตัวลวดไว้ โดยวิธีนี้จะช่วยลดการเสียดสีที่จะเกิดขึ้นระหว่างตัวเครื่องมือและผิวแก้มหรือเหงือก
  3. การจัดฟันด้านใน (Lingual braces): เป็นการจัดฟันโลหะแบบสมัยใหม่ ซึ่งแทนที่จะติดเครื่องด้านนอก ตัวเครื่องมือจัดฟันจะถูกติดตั้งด้านหลังของตัวฟัน ทำให้ไม่ดูเทอะทะและเสียภาพลักษณ์

ข้อดี

  • ใช้งานได้หลากหลาย: ข้อดีหลักของการจัดฟันเหล็กคือ สามารถใช้แก้ไขปัญหาการเรียงตัวของฟันได้หลากหลายแบบ แม้กระทั้งเคสที่มีความซับซ้อน โดยมักนิยมใช้เป็นตัวเลือกในการจัดฟันควบคู่กับการผ่าตัดขากรรไกร เพราะส่วนใหญ่เคสผ่าตัดจะมีการเรียงตัวของฟันที่ค่อนข้างซับซ้อน
  • มีความคงทน: เนื่องจากวัสดุจัดฟันทำจากโลหะ ทำให้มีความคงทนต่อแรงกระแทกและการใช้งาน
  • ราคาย่อมเยา: การจัดฟันแบบเหล็กมีราคาที่ย่อมเยาและถูกกว่าแบบอื่น เช่น การจัดฟันใส หรือ การจัดฟันแบบดามอน
  • สามารถปรับแต่งได้: จัดฟันโลหะมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับแต่งได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสียาง หรือรูปแบบ

ข้อเสีย

  • ส่งผลต่อภาพลักษณ์: การจัดฟันแบบโลหะ ต้องมีการติดเครื่องมือที่หลากหลาย ทำให้มองเห็นชัดเจน ไม่ดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองได้
  • รู้สึกไม่สบายช่องปาก: เนื่องจากตัวเครื่องมือจัดฟันต้องมีการรัดและดึงตัวฟันตลอดเวลา ทำให้คนไข้อาจรู้สึกไม้สบายข่องปาก โดยจะรู้สึกตึงๆปากและเจ็บในช่วงจัดฟันและช่วงการเคลื่อนของฟัน
  • ต้องจำกัดการกิน: คนไข้ต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเหนียว แข็ง หรืออาหารที่ต้องใช้ฟันบดเคี้ยวเยอะ เพราะจะทำให้เครื่องมือได้รับความเสียหายหรือไปรบกวนการเคลื่อนตัวของฟันได้
  • ต้องพบทันตแพทย์บ่อย: เพื่อทำการปรับเครื่องมือต่างๆ ให้เหมาะาม และมีเวลาในการรักษาที่ค่อนข้างนาน ประมาณ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับปัญหาของแต่ละบุคคล

ขั้นตอนการจัดฟัน

  1. ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อเช็คดูอาการ ตรวจวินิจฉัยโครงสร้างฟัน พร้อมทำประวัติก่อนการจัดฟัน เช่น การพิมพ์ฟัน การถ่ายภาพ การ x-ray รวมไปถึงวางแผนการรักษา
  2. ทำการเคลียร์ช่องปาก เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด เป็นต้น
  3. นัดหมายติดเครื่องมือจัดฟัน โดยจะเริ่มจากการเตรียมพื้นผิวของฟัน ตามด้วยติดเหล็กดัดฟันด้วยวัสดุยึดเกาะ หลังจากนั้นทำการใส่ลวดยึดเพื่อขึงตัวเครื่องมือเข้าด้วยกัน
  4. เมื่อติดเครื่องจัดฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะทำการนัดทุก 4-6 อาทิตย์ เพื่อเข้ามาทำการปรับลวดและตำแหน่งเครื่องมือจัดฟันให้เป็นไปตามแผนการ
  5. หลังจากจัดฟันโลหะครบตามกำหนดแล้ว แพทย์จะถอดเครื่องมือจัดฟัน แล้วจะพิมพ์ฟันทำรีเทนเนอร์ ซึ่งมีหลากหลายแบบ ได้แก่ รีเทนเนอร์แบบใส รีเทนเนอร์แบบลวด รีเทนเนอร์แบบติดแน่น และรีเทนเนอร์แบบโลหะ เพื่อใช้คงสภาพฟัน ซึ่งควรใส่ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ เพื่อไม่ให้ฟันเคลื่อนกลับไปตำแหน่งเดิม 

ราคาและระยะเวลาการจัดฟัน

จัดฟันโลหะจะมีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 39,000-45,000 บาท และจะมีระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละเคส ซึ่งในปัจจุบัน คลินิกและโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีแผนการผ่อนชำระรายเดือน ทำให้คนไข้ไม่จำเป็นต้องชำระเงินค่ารักษาเต็มจำนวน

ข้อควรปฏิบัติในช่วงจัดฟัน

ระหว่างการจัดฟัน ขั้นตอนการดูแลตัวเองคร่าวๆ มีดังนี้:

  • ดูแลความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ โดยใช้แรปงสีฟันขนอ่อน และ ใช้ใไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยการดูแลรักษาความสะอาดนั้น จะต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะเศษอาหารสามารถเข้าไปติดตามซอกเครื่องมือจัดฟันเหล็กได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเหนียว แข็ง รวมไปถึงอาหารที่มีรสหวานหรือเปรี้ยวสูง เช่น หมากฝรั่ง ลูกอม เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้อาจไปรบกวนการเคลื่อนที่ของตัวฟันหรือสร้างความเสียหายให้กับเครื่องมือจัดฟันได้
  • พยายามหลีกเหลี่ยงการกระทบกระแทกกับตัวแบร็คเก็ตจัดฟัน เช่น การกัดเล็บ การกัดของแข็ง และหากจะต้องลงเล่นกีฬาที่อาจได้รับการกระทบกระเทือน ก็ควรที่จะใส่ยางกันฟัน
  • ไปพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

วิธีการดูและตัวเองหลังจัดฟันเสร็จ

หลังจัดฟันโลหะเสร็จ ขั้นตอนการดูแลตัวเองคร่าวๆ มีดังนี้:

  • ขยันใส่รีเทนเนอร์ตามที่ทันตแพทย์สั่งในช่วง 1-2 ปีแรกหลังจัดฟัน เพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวกลับของฟันหรือที่เรียกว่าฟันล้ม
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของฟัน เช่น แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และ ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • พยายามเลี่ยงการรับประทานอาหารเหนียวหรือแข็งในช่วงแรกๆ หลังจัดฟันเสร็จ เพื่อให้ฟันเข้าที่สมบูรณ์ก่อน
  • ไปพบทันตแพทย์ตามนัดเพื่อเช็คดูการเคลื่อนตัวของฟันและทำการแก้ไขแต่เนิ่นๆ หากไม่เป็นไปตามแผนการรักษา