หน้าไม่เท่ากัน เกิดจากอะไร แก้ไขยังไง
ใบหน้าไม่เท่ากัน หรือ หน้าเบี้ยว คือ ลักษณะของใบหน้าที่ขาดสมดุลโดยที่ด้านใดด้านหนึ่งไม่เท่าหรือไม่สมส่วนกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว ใบหน้าของคนส่วนใหญ่ จะไม่เท่ากัน 100% อยู่แล้ว แต่หากความไม่สมส่วนมีลักษณะที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือภาพลักษณ์ ก็จะทำให้ถูกจัดว่าเป็นภาวะหน้าไม่เท่ากัน หรือ Asymmetrical Face
โดยในบทความนี้ เราจะมาดูสาเหตุ ผลกระทบต่อการใช้ชีวิต รวมไปถึงวิธีการแก้ไขภาวะนี้กัน
สาเหตุ
- กรรมพันธุ์: หากคนในครอบครัว เช่น พ่อหรือแม่ มีภาวะใบหน้าไม่เท่ากัน ก็อาจส่งต่อมายังลูกหลานได้ รวมไปถึงปัญหาทางพันธุกรรมบางอย่างที่อาจทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกใบหน้าไม่สมส่วนกัน
- การเจริญเติบโตของกระดูก: ปัญหาในด้านการเจริญเติบโตของกระดูกที่ผิดปกติเมื่ออยู่ในครรภ์มารดาหรือเมื่ออายุมากขึ้นก็อาจทำให้ใบหน้าบางส่วนไม่เท่ากัน
- อุบัติเหตุ: การเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่ทำให้ใบหน้าได้รับแรงกระแทก จนนำไปสู่การแตกหักหรือการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรของใบหน้า
- โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท: โรคบางชนิดที่เกี่ยวกับเส้นประสาทบนใบหน้า เช่น โรคปากเบี้ยว (Bell’s Palsy) ก็สามารถทำให้ใบหน้าไม่สมส่วน ทั้งในแบบชั่วคราวและถาวรได้
- ปัญหาทางทันตกรรม: เช่น ปัญหาการสบฟัน การใส่ฟันปลอมเป็นระยะเวลานาน หรือ อื่นๆ อาจทำให้ต้องใช้ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งเยอะเกินไป ซึ่งอาจทำให้หน้าไม่สมส่วนกัน
- ปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ: เช่น โรคเส้นเลือดในสมอง หรือ โรคที่เกี่ยวกับประสาทต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปติของสมดุลใบหน้า
ผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
- การมองเห็นที่ไม่เท่ากัน: หากใบหน้าเบี้ยวมากไป อาจทำให้การมองเห็นไม่เท่ากันทั้ง 2 ด้าน ส่งผลต่อการโฟกัสภาพต่างๆ
- การใช้งาน: อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและการสบฟัน เพราะต้องมีการใช้งานใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งมากขึ้น รวมไปถึงการพูดออกเสียงบางคำ และการหายใจ
- ความเจ็บปวด: อาการเจ็บปวดเรื้อรังต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาจากการใช้งานใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งมากไป เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ปัญหากข้อต่อขากรรไกร (TMD) และอื่นๆ
- ปัญหาทางสุขภาพจิต: ใบหน้าที่ไม่เท่ากัน อาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเอง อันนำมาสู่ความเครียดและวิตกกังวลทางสังคม
การแก้ไขรักษา
ในการรักษาแก้ไขหน้าที่ไม่เท่ากัน สามารถแบ่งการรักษาออกเป็น 4 หมวดการรักษาหลัก ขึ้นอยู่กับต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
1. เกี่ยวกับกระดูกขากรรไกร
- จัดฟัน: หากใบหน้าที่ไม่เทากันเกิดจากการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดฟันทั้งแบบใส่เครื่องมือจัดฟันหรือจัดฟันแบบใส ขึ้นอยู่กับอาการของภาวะ
- การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน: ภาวะโครงสร้างใบหน้าไม่สมมาตรที่เกิดจากการเจริญเติบโตของข้อต่อขากรรไกรเจริญไม่เท่ากันสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เมื่อแพทย์ผ่าตัดทำการวินิจฉัยแล้วว่าส่วนของกระดูกขากรรไกรไม่สมมาตรเกิดแค่กระดูกขากรรไกรล่าง หรือทั้งขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง ก็จะเลือกวิธีการผ่าตัดรักษา เช่น ผ่าตัด 1-ขากรรไกร (1-jaw surgery) หรือต้องผ่าตัดทั้ง 2 ขากรรไกร (2-jaw surgery) และควรรักษาร่วมกับการจัดฟันด้วยเสมอ
- การผ่าตัดคาง (Genioplasty): การผ่าตัดคางเพื่อปรับสมดุลใบหน้าในกรณีที่ปัญหาเกิดจากกระดูกคางที่ไม่เท่ากัน รวมไปถึงอาจใช้แก้ไขความไม่สมมาตรที่หลงเหลือหลังการผ่าตัดขากรรไกร
2. เกี่ยวกับเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อใบหน้า
- การออกกำลังกายและการบำบัด: ใช้ในการช่วยบรรเทาและฟื้นฟูความสมดุลของใบหน้าอันเกิดจากปัญหาด้านกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทบนใบหน้า หรือ เพื่อแก้ไขพฤตกรรมบางอย่าง เช่น การเคี้ยวอาหารข้างเดียว
- เสริมความงามใบหน้าต่างๆ: เช่น การฉีดโบท็อกซ์ ร้อยไหม หรือ การฉีดฟิลเลอร์ เพื่อช่วยเติมเต็มกล้ามเนื้อหรือไขมันในส่วนของใบหน้าที่ไม่เท่ากัน
- ฉีดไขมัน: เป็นการนำไขมันจากส่วนอื่นบนร่างกายไปฉีดเข้าใบหน้าเพื่อให้ดูเติมเต็มและสมส่วนมากขึ้น
3. เกี่ยวกับกระดูกใบหน้า
- การผ่าตัดกระดูก: เช่น การผ่าตัดกระดูกโหนกแก้ม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประสบอุบัติเหตุอันทำให้หน้าไม่เท่ากัน
- การเสริมคางและโหนกแก้ม: เหมาะสำหรับในกรณีที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งเจริญเติบโตไม่เท่ากัน
4. เกี่ยวกับเส้นประสาทและอื่นๆ
- การรักษาและบรรเทาปัญหาเกี่ยบกับเส้นประสาท: เช่น การฉีดโบท็อกซ์เพื่อคลายเส้นประสาท หรือ การบำบัดต่างๆ ในกรณีที่เกิดจากเส้นประสาทใบหน้ามีความผิดปติหรือได้รับความเสียหาย
- การเสริมกายอุปกรณ์ต่างๆ: เช่น การแทนที่บางส่วนของใบหน้าที่หายไป การใส่ฟันปลอม หรือ รากเทียม เพื่อทดแทนฟันที่หายไป
- การรักษาโรคอื่นๆ: เช่น โรคทางสมอง อันเป็นสาเหตุของใบหน้าไม่เท่ากัน
สรุป
จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ใบหน้าไม่เท่ากันนั้น มีหลายสาเหตุมาก ทั้งที่เกิดจากปัจัจัยที่ควบคุมได้และไม่ได้ ซึ่งในการรักษานั้น หลายๆ ครั้งต้องมีการแก้ไขด้วยมากกว่า 1 วิธี เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาที่สูงสุด โดยสุดท้ายแล้ว คนไข้ต้องไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยประเมิณอาการ และหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดต่อไป