ผ่าตัดขากรรไกรเจ็บไหม จัดฟันอย่างเดียวได้หรือไม่

เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
นพ.ทพ. สุรัตน์ แสงจินดา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล จบการศึกษาทั้งจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์

การผ่าตัดขากรรไกรนั้น คือการผ่าตัดศัลยกรรมปรับตำแหน่งของขากรรไกรเพื่อแก้ไขปัญหาโครงหน้าและการสบฟันที่ผิดปกติ อันก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ภาวะสบฟันแบบเปิด ภาวะนอนกรน ปัญหาของข้อต่อ หรือเป็นการรักษาเพื่อความสวยงามของใบหน้าโดยเฉพาะ โดยอาจมีการจัดฟันร่วมด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ในปัจจุบัน การผ่าตัดขากรรไกรจะมีการใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก ร่วมกับการกำหนดตำแหน่งด้วยระบบ 3D เพื่อลดระยะเวลาในการผ่าตัดและลดเวลาของการพักฟื้นให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยในระหว่างการผ่า แพทย์จะทำการรักษาคนไข้ภายใต้การดมยาสลบ จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ และหลังผ่าตัดเสร็จ คนไข้จะมีความเจ็บปวดดอยู่บ้าง แต่ก็จะค่อยๆ ดีขั้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตามการรักษานี้ จะใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดที่โรงพยาบาลอยู่ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งช่วงเวลานี้ทีมแพทย์จะสามารถควบคุมการอักเสบ และอาการปวดของผู้ป่วยได้ด้วยยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะออกฤทธิ์ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพในการควบคุมความเจ็บปวดได้ดีมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ๋จึงแทบจะไม่มีอาการปวดหลังการผ่าตัดเลย แต่จะมีปัญหาในเรื่องของการทานอาหารและการอ้าปาก หุบปาก มากกว่า

การฟื้นตัวหลังผ่าตัด

โดยทั่วไป แพทย์จะแนะนำให้พักฟื้นอยู่บ้านประมาณ 10-14 วัน หลังการผ่าตัด เนื่องจากใบหน้าจะค่อนข้างบวม และยังต้องทานอาหารเหลวอยู่ หลังจาก 10-14 วันสามารถเริ่มออกไปทำกิจกรรมที่ไม่มีการกระทบกระแทกได้ ช่วงระยะเวลา 3-6 เดือนก็จะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนักๆ ได้

จำเป็นต้องผ่าหรือไม่

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ ต้องมีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย เพราะการจัดฟันเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ไขความสัมพันธ์ของขากรรไกรที่ผิดปกติได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีการสบฟันแบบคลาส 3 ที่มีฟันล่างคร่อมฟันบน และมีคางยื่นออกมาข้างหน้า การจัดฟันเพียงอย่างเดียงอาจจะทำให้ฟันบนกลับมาคร่อมฟันล่างได้ แต่ลักษณะของคางที่ยื่นจะไม่สามารถแก้ไขได้ หรือผู้ป่วยที่คางเล็ก มีการสบฟันแบบคลาส 2 ร่วมกับมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ การจัดฟันเพียงอย่างเดียวอาจจะสามารถแก้ไขการสบฟันให้เป็นปกติได้ แต่จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาคางเล็กและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้

กรณีที่ไม่จำเป็นต้องจัดฟัน

หากคนไข้ต้องการแก้ไขปัญหาขากรรไกรแต่ไม่ต้องการจัดฟัน สามารถทำได้ในกรณีที่การสบฟันของผู้ป่วยเป็นลักษณะคลาส 1 (การสบฟันปกติ) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ของขากรรไกรบนและล่างที่ไม่สัมพันธ์กันมักจะมีการสบฟันแบบคลาส 2 หรือคลาส 3 ร่วมด้วย ดังนั้นถ้าต้องการผ่าตัดเปลี่ยนตำแหน่งของขากรรไกร ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยต้องรับการจัดฟันร่วมด้วยเสมอ แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดกรรไกรที่ไม่เปลี่ยนตำแหน่ง เช่น ผ่าตัดมุมกราม ผ่าตัดเสริมคาง การผ่าตัดลักษณะแบบนี้ไม่จำเป็นต้องทำการจัดฟันร่วมด้วย อย่างไรก็ตามอาจจะมีข้อต้องพิจารณามากกว่านี้ แนะนำให้พบคุณหมอผ่าตัดผู้ชำนาญเพื่อได้รับคำปรึกษาและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

แชร์บทความนี้