นอนกัดฟันเกิดจากอะไร แก้ยังไง ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของฟัน
การนอนกัดฟัน (Bruxism) คือ ความผิดปกติในขณะนอนหลับอย่างหนึ่งโดยที่ผู้ที่ประสบปัญหานี้จะมีการกัดและขบฟันโดยที่ไม่รู้ตัว โดยหลักๆ เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยว เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความเครียด การใช้ชีวิต ปัญหาการสบฟัน และอื่นๆ
โดยในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า การนอนกัดฟันนั้นเกิดจากอะไร จะแก้ยังไง และหากปล่อยไว้จะส่งผลเสียอย่างใรให้กับสุขภาพช่องปากและฟัน
สาเหตุ
- ความเครียด: ความเครียดทางอารมณ์ต่างๆ และอาการวิตกกังวลอาจเป็นต้นเหตุของการนอนกัดฟันได้ เพราะความเครียดจะไปส่งผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็งมากกว่าปกติ
- การสบฟันที่ผิดปกติ: เช่น ผู้ที่มีฟันเก หรือ ฟันซ้อน รวมไปถึงปัญหาขากรรไกรอื่นๆ
- บุคลิก: บุคลิกส่วนตัวของผู้ที่มีความฉุนเฉียวหรือชอบแข่งขันอยู่บ่อยๆ อาจมีนิสัยที่ชอบเกร็งกล้ามเนื้อตนเองมากกว่าปกติ ซึ่งอาจไปกระทบกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวอาหารด้วย
- ปัญหาการนอนหลับ: ภาวะนอนกัดฟันนั้นมักจะพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น นอนกรน หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)
- การใช้ชีวิต ไลฟไสตล์: เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือ ดื่มกาแฟ มากกว่าปกติ
จะรู้ได้ไงว่านอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันนั้น โดยส่วนมากผู้ที่ประสบปัญหานี้จะไม่รู้ตัว เพราะมักจะเกิดในระหว่างการหลับลึก แต่หลังตื่นนอนแล้ว สามารถสังเกตอาการต่อไปนี้ได้ จะได้พอทราบว่ามีปัญหานี้หรือไม่
- ฟันสึกหรือบางลง ซึ่งเกิดจากการกัดฟันซ้ำๆ เป็นเวลานาน
- อาการปวดและเมื่อยบริเวณกรามและข้อต่อขากรรไกร เนื่องมากจากการใช้งานที่มากขึ้นจากการกัดฟัน
- อาการเสียวฟันเมื่อรับประทานหรือดื่มของเย็น ของร้อน หรือ ของหวาน อันเนื่องมาจากการกัดฟันทำให้ผิวและรากฟันได้รับความเสียหาย
- อาการปวดหัวแบบหน่วงๆ และหูตอนตื่นนอน
วิธีการรักษาแก้ไข
- การใช้เฝือกสบฟัน: เฝือกสบฟันหรือ Mouth Guard เป็นเครื่องมือทางทันตกรรมที่ใช้เพื้อป้องกันการกัดฟันเวลานอน รวมไปถึงช่วยลดความเสียหายของฟันโดยรอบและอาการปวดกรามจากการกัด เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่เป็นภาวะนี้ไม่มาก หรือ เป็นชั่วคราว
- การแก้ไขทางทันตกรรม: หากปัญหาการนอนกัดฟันเกิดจากปัญหาทางทันตกรรม เช่น การสบฟันที่ผิดปกติ ฟันสูงไม่เท่ากัน หรือ การบาดเจ็บต่างๆ การแก้ไขด้วยการจัดฟัน แปะวีเนียร์ หรือ ปรับระดับความสูงของฟันก็สามารถช่วยได้ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้ทำการประเมินและแนะนำวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
- การผ่าตัด: ในบางกรณี การจัดฟันหรือแก้ไขปัญหาทันตกรรมเบื้องต้นอาจจะยังไม่พอ ดังนั้นคนไข้อาจต้องมีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย
- การบำบัดรักษา: การบำบัดรักษาต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบำบัดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็น นั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือ ไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์บันทึกการทำงาน การหดตัว การคลายตัวของกล้ามเนื้อ และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถรู้จุดบกพร่องและทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อที่ขากรรไกรได้อย่างถูกต้อง
- การรักษาด้วยยา: เช่น การรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ การรับประทานยาคลายเครียด หรือ การฉีดฉีดโบทอกซ์ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแบบอื่น ก็สามารถช่วยบรรเทาและคลายกล้ามเนื้อบริเวณกรามและส่วนที่ใช้บดเคี้ยวอาหารได้
- การปรับเปลี่ยนพฤติการรม: เช่น การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ลดกาเฟอีน หรือ การเปลี่ยนนิสัยการนอนหลับ ก็สามารถช่วยลดและรักษาการนอนกัดฟันได้
ผลเสียของการปล่อยทิ้งไว้
นอนกัดฟัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่รักษา อาจส่งผลเสียต่างๆ ดังนี้:
- ความเสียหายและการสึกของเหงือกและฟันโดยรอบที่ได้รับผลกระทบ
- ปัญหาข้อต่อขากรรไกรอักเสบและเสื่อม (TMJ)
- ปัญหาเหงือกร่น
- อาการปวดกราม ปวดหัวและบริเวณหูเรื้อรัง
- ส่งผลถึงการนอนหลับที่ถูกรบกวน เพราะการนอนกัดฟันอาจทำให้ตื่นกลางดึกได้
วิธีการป้องกัน
- ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ
- ผ่อนคลายตัวเองและหากิจกรรมทำหากเริ่มรู้สึกว่ามีความเครียด
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาเฟอีน
- งดการสูบบุหรี่
- สังเกตและระวังพฤติกรรมการกัดฟัน
- ฝึกนิสัยการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ