ผ่าตัดขากรรไกรแก้ปัญหาหยุดหายใจและนอนกรนขณะนอนหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) คือภาวะที่ร่างกายหายใจติดๆ ขัดๆ ระหว่างการนอนหลับ โดยจะมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ มีหลายรูปแบบ โดยประเภทที่เป็นกันมากที่สุดนั้นคือการหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ซึ่งเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบลงอันมาจากกายวิภาคของกล้ามเนื้อในช่องคอ ทำให้ปิดกั้นการไหลเวียนของออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การนอนกรน การนอนหลับไม่เต็มที่ และหากปล่อยไว้ อาจนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ในการรักษาปัญหาการหยุดหายใจและนอนกรนขณะนอนหลับนั้นมีหลากหลายวิธี และหนึ่งในวิธีที่เห็นผลดีที่สุดคือการผ่าตัดขากรรไกรเพื่อช่วยลดการบดบังช่องทางหายใจในลำคอ โดยในบทความนี้ เราจะมีดูข้อมูลเกี่ยวกับการรักษานี้เพิ่มเติมกัน
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ความผิดปกติทางโครงสร้างของร่างกาย: ขากรรไกรที่เล็กหรือตำแหน่งขากรรไกรที่ถอยไปด้านหลังทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
- โรคอ้วน (Obesity): ไขมันส่วนเกินที่ลำคอกดทับทางเดินหายใจทำให้ช่องทางเดินอากาศแคบลง
- อายุและเพศ: ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับนั้นพบได้มากในผู้ชายและผู้สูงอายุที่มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในช่องคอ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต: การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้กล้ามเนื้อในลำคอผ่อนคลายเกินไป
- ประวัติครอบครัว: หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ความเสี่ยงจะสูงขึ้น
- ภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ: โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานล้วนเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของปัญหานี้ได้
การผ่าตัดขากรรไกรช่วยรักษาได้อย่างไร
ในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ศัลแพทย์จะทำการผ่าตัดเคลื่อนขากรรไกรบน ล่าง หรือทั้งสองมาทางด้านหน้าเพื่อช่วยขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณช่องคอที่อยู่โดยรอบกระดูกขากรรไกร ซึ่งการรักษานร้มักจะถูกใช้เป็นวิธีสุดท้ายๆ เนื่องจากการผ่าตัดนั้นย่อมมากับความเสี่ยง โดยถือเป็นการรักษาที่ได้ผลอย่างมากกับผู้ป่วยที่ภาวะหยุดหายใจไม่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันต่อเนื่อง (CPAP)
การเตรียมตัวก่อนการรักษา
- การปรึกษาแพทย์: คนไข้ทำการเข้าพบศัลยแพทย์ช่องปากและผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Maxillofacial เพื่อประเมินขากรรไกร การสบฟัน รวมไปถึงอาจมีการทดสอบการนอนหลับ การถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ ภาพถ่าย และการสแกน 3 มิติเพื่อวางแผนการรักษาอย่างละเอียด
- จัดฟัน (การใส่เหล็กจัดฟัน): ในบางกรณี อาจจะต้องมีการจัดฟันร่วมด้วยก่อนทำการรักษา
- การตรวจร่างกายเพิ่มเติมและการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ แพทย์จะทำการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคประจำตัว และทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อดูความพร้อม รวมไปถึงอาจมีการแนะนำการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสมก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น การงดสูบบุหรี่ หรือ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การจัดทำบันทึกก่อนการผ่าตัด: มีการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์, CT สแกน, และทำแบบจำลองฟันเพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล 3D เพื่อจำลองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัด
- 1 วันก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องนอนที่โรงพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อม และงดน้ำ และอาหาร 8 ชม. ก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- เมื่อถึงเวลาผ่าตัด คนไข้จะได้รับการวางยาสลบทั่วไป ซึ่งช่วยให้หลับตลอดการผ่าตัดและจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ
- ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณภายในปากเพื่อเข้าถึงกระดูกขากรรไกร ทำให้ไม่มีรอยแผลเป็นภายนอกบนใบหน้า โดยในปัจจุบันจะเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เพื่อลดอาการผลข้างเคียงและทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ศัลยแพทย์จะตัดกระดูกขากรรไกรและเคลื่อนย้ายขากรรไกรให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง จากนั้นจะใช้แผ่นโลหะและสกรูเล็กๆ ยึดขากรรไกรไว้เพื่อให้กระดูกเข้าที่
- หลังเสร็จสิ้นขั้นตอน แพทย์จะทำการเย็บปิดปากแผลให้เรียบร้อย พร้อมเฝ้าดูอาการต่อไป
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
- ดูแลเรื่องอาหารการกิน: หลังผ่าตัดเสร็จ ช่วงแรกให้รับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน เช่น ซุปหรือโยเกิร์ต หลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มอาหารที่มีความแข็งขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์
- บรรเทาอาการเจ็บปวด: หลังผ่าตัดขากรรไกรเสร็จ คนไข้จะมีอาการปวดและบวมบริเวณที่ถูกผ่า ดังนั้นให้ใช้ยาบรรเทาปวดที่แพทย์สั่งให้ตามปริมาณที่กำหนดเพื่อลดอาการ และทำการประคบเย็นบริเวณที่บวมในช่วง 48 ชั่วโมงแรก
- รักษาความสะอาดในช่องปาก: บ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำเกลืออย่างอ่อนตามคำแนะนำของแพทย์และหลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณแผลจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- พักผ่อนให้เพียงพอ: ยกศีรษะสูงเล็กน้อยขณะนอนเพื่อลดอาการบวมและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้น
- ไปพบแพทย์ตามนัด: เข้าพบแพทย์ตามที่กำหนดเพื่อประเมินผลการฟื้นตัวและดูแลแผลผ่าตัด