ผ่าตัดขากรรไกรก่อนการจัดฟันได้หรือไม่ พร้อมข้อดี ข้อเสีย

เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
นพ.ทพ. สุรัตน์ แสงจินดา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล จบการศึกษาทั้งจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน (Orthognathic surgery) คือการผ่าตัดศัลยกรรมปรับตำแหน่งของขากรรไกร ร่วมกับการจัดฟันเพื่อแก้ไขความสัมพันธ์ที่ผิดปกติของ ฟัน-กะโหลกศีรษะ-กระดูกขากรรไกร ซึ่งจะแบ่งการรักาษาออกเป็น2 ช่วง คือ การผ่าตัดขากรรไกร และ การจัดฟัน

ในบางกรณี ผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะผ่าตัดขากรรไกรก่อน แล้วจึงค่อยจัดฟันได้ ซึ่งวิธีการรักษาแบบนี้เป็นวิธีใหม่ มีข้อดีหลักๆ คือ ลดระยะเวลาทั้งหมดในการรักษาลง แต่วิธีการนี้ ก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน ซึ่งเราจะมีอธิบายให้เข้าใจในบทความนี้

แบบของการรักษา

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน จะมีการรักษาอยู่ 2 แบบ คือ

  1. วิธีดั่งเดิม (conventional orthognathic surgery): จะต้องทำการจัดฟันก่อนสักระยะหนึ่งเพื่อเตรียมระดับและการเรียงตัวของฟันให้เหมาะสมก่อน (pre-surgery orthodontic phase) จากนั้นถึงเข้าสู่ช่วงของการผ่าตัด( surgery phase) หลังการผ่าตัดก็จะจัดฟันเพื่อเก็บรายละเอียดต่ออีกสักระยะเวลาหนึ่ง (post-surgery orthodontic phase)
  2. ก่อนการจัดฟัน (Surgery-first orthognathic): เป็นการผ่าตัดขากรรไกรก่อนแล้วจึงค่อยจัดฟันตามทีหลัง

เปรียบเทียบประเภทของการรักษา

การรักษาแบบดั้งเดิม

ข้อดี:

  • การเรียงตัวของฟันจะดีพร้อมสำหรับการผ่าตัด ทำให้หลังการผ่าตัดมีการสบฟันที่มั่นคง (stable) ลดโอกาสคืนกลับของขากรรไกรไปในตำแหน่งก่อนผ่าตัดได้น้อย (relapse)
  • ทำให้แพทย์ผู้ผ่าตัดและหมอจัดฟันสามารถคาดคะเนลักษณะของโครงสร้างใบหน้า และการกัดสบฟัน หลังการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ
  • หลังการผ่าตัดจะใช้เวลาจัดฟันอีกไม่นาน

ข้อเสีย:

  • ใช้เวลาทั้งหมดในการรักษานานกว่าวิธีผ่าตัดขากรรไกรก่อนการจัดฟัน (surgery first orthognathic surgery) ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาทั้งหมดในการรักษาประมาณ 2-3 ปี
  • จะมีช่วงเวลาที่มีการจัดฟันเพื่อชดเชย (decompensate) โครงสร้างความสัมพันธ์ของขากรรไกรบนและล่างที่ผิดปกติ จึงทำให้ลักษณะของความสัมพันธ์ของขากรรไกรบนและล่างดูมากเกินกว่าปกติ เช่น คนไข้ที่มีลักษณะขากรรไกรล่างยื่น เมื่อเวลาที่มีการจัดฟันก่อนการผ่าตัดจะทำให้รู้สึกว่าขากรรไกรล่างยื่นเพิ่มมากขึ้น

การรักษาแบบผ่าก่อน

ข้อดี:

  • ลดระยะเวลาทั้งหมดในการรักษาลงประมาณครึ่งหนึ่งจากวิธีรักษาแบบดั่งเดิม
  • โครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรเข้ารูปทันทีหลังการผ่าตัด ส่งผลดีสภาพจิตใจของผู้ป่วย
  • สามารถรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ทันทีหลังการผ่าตัด (obstructive sleep apnea)

ข้อเสีย:

  • คาดคะเนผลลัพธ์ของโครงสร้างใบหน้า ขากรรไกร และการสบฟันหลังการผ่าตัดได้ยาก
  • มีโอกาสคืนกลับของตำแหน่งขากรรไกรหลังการผ่าตัดได้สูง(relapse) ถ้าการสบฟันหลังการผ่าตัดไม่มั่นคงพอ

ข้อจำกัด

ปัจจุบันนี้ด้วยความชำนาญของหมอผ่าตัดที่มากขึ้น เทคนิคการผ่าตัดและเทคโนโลยี 3D ที่เข้ามาช่วยในการวางแผนและทำนายผลของการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มสามารถที่จะทำการผ่าตัดขากรรไกรก่อน (surgery first orthognathic surgery) แล้วหลังการผ่าตัดก็ค่อยไปรักษาด้วยการจัดฟันทีเดียว แต่ว่าวิธีนี้ไม่ได้เหมาะสมกับลักษณะของโครงสร้างใบหน้า และการสบฟัน ของคนไข้ทุกคน

ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดขากรรไกรก่อนการจัดฟัน ได้แก่:

  1. คนไข้ที่มีฟันซ้อนมาก จนต้องได้รับการถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน : ควรได้รับการแก้ไขฟันซ้อนเก และการสบฟันให้เหมาะสมกับการผ่าตัดก่อน
  2. คนไข้ที่มีโครงสร้างใบหน้าไม่สมมาตร : การผ่าตัดก่อนการจัดฟันมีโอกาสสูงที่จะทำให้หลังการผ่าตัดใบหน้ายังมีความไม่สมมาตรหลังเหลืออยู่
  3. คนไข้ที่มีระนาบการสบฟันที่ชันมาก (Deep curve of spee) : ควรได้รับการจัดฟันเพื่อแก้ไขระนาบการสบฟันก่อน
  4. คนไข้ที่มีโรคปริทันต์อักเสบ มีฟันโยก : ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโรคปริทันต์ก่อน
  5. คนไข้ที่มีปัญหาปวดข้อต่อขากรรไกร : ผู้ป่วยควรได้รับการบำบัดให้อาการของโรคอยู่ในระยะสงบก่อน

สรุป

สุดท้ายแล้ว จะเห็นได้การผ่าตัดขากรรไกรก่อนการจัดฟันนั้น สามารถทำได้เฉพาะผู้ป่วยในบางกรณี ซึ่งในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ ควรได้รับการแก้ปัญหาต่างๆด้วยการจัดฟันและรักษาทางทันตกรรมก่อน แล้วจึงเข้ารับการผ่าตัดจะได้รับผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีกว่า

ดังนั้นแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้ผ่าตัดและทันตแพทย์จัดฟันที่มีประสบการณ์สูง การวินิจฉัยที่ผิดพลาดและพยายามทำการผ่าตัดขากรรไกรก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่หวัง และทำให้การจัดฟันหลังการผ่าตัดยุ่งยากมากขึ้น

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง