ยิ้มเห็นเหงือกเยอะ เกิดจากอะไร แก้ไขยังไง

เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
นพ.ทพ. สุรัตน์ แสงจินดา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล จบการศึกษาทั้งจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์

ภาวะยิ้มเห็นเหงือกเยอะ (Gummy smile) เป็นความผิดปติของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก โดยสามารถสังเกตได้จากการที่ยิ้มแล้ว เห็นส่วนของเหงือกมากกว่า 3 มิลลิเมตรขึ้นไป (ปกติแล้วเวลาคนเรายิ้มขอบเหงือกจะพอดีคอฟัน หรือเห็นส่วนเหงือกแค่ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร)

โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัญหานี้จะกระทบในแง่ของภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ในบางกรณี ก็อาจรบกวนการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ โดยในบทความนี้ เราจะมาดุสาเหตุของภาวะยิ้มเห็นเหงือกเยอะ ผลกระทบ และการรักษาแก้ไขกัน

สาเหตุ

  • ภาวะฟันสั้น (Altered passive eruption): ภาวะนี้เกิดจากมีเหตุปัจจัยบ้างอย่างทำให้ฟันงอกขึ้นมาได้น้อยกว่าปกติ เมื่อฟันสั้นเวลายิ้มจึงจะเห็นเหงือกด้านบนเยอะมากขึ้น ไม่สมสัดส่วนกัน การประเมินว่าภาวะฟันสั้นหรือไม่ทำได้โดยการวัดขนาดของตัวฟันว่าสั้นกว่าค่ามาตรฐานหรือไม่ เช่น ฟันกระต่ายควรมีความยาวฟันประมาณ 10 มิลลิเมตร
  • ภาวะขากรรไกรบนยื่นหรือยาวเกินไป (vertical maxillary excess): ภาวะนี้เกิดจากกระดูกขากรรไกรบนที่เจริญมากกว่าปกติ ทำให้ขากรรไกรบนยาวและดันริมฝีปากขึ้นด้านบน เวลายิ้มจึ้งเห็นเหงือกเยอะ การประเมินว่าขากรรไกรบนยื่นหรือยาวเกินไปประเมินได้จากการตรวจทางคลินิกและภาพถ่ายรังสี เพื่อนำไปคำนวนขนาดของขากรรไกรบน
  • ภาวะกล้ามเนื้อริมฝีปากบนขยับมากเกินไป (Hypermobility upper lip): ภาวะนี้เกิดจากกล้ามเนื้อริมฝีปากมีการขยับมากเกินไปเวลายิ้ม โดยปกติเวลายิ้มริมฝีปากบนไม่ควรขยับขึ้นสูงเกิน 8 มิลลิเมตร
  • ภาวะเหงือกโต (Gingival Hypertrophy): เกิดจากการที่เหงือกโตมากผิดปกติ โดยสาเหตุเกิดมาจากพันธุกรรม หรือ การอักเสบบางอย่างของเหงือกอันเนื่องมาจากการดูแลที่ไม่ทั่วถึง

ผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

  • ปัญหาด้านภาพลักษณ์และความสวยงาม: การยิ้มจนเห็นเหงือกมากเกินไป อาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองและภาพลักษณ์ในทางลบได้
  • การใช้งาน: อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการบดเคี้ยวและการสบฟันและการพูดออกเสียงบางคำ
  • ความลำบากในการทำความสะอาดช่องปาก: เหงือกที่มากเกินไปอาจทำให้การแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดเป็นเรื่องที่ยากขึ้น อันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในช่องปากได้

การแก้ไขรักษา

เนื่องจากสาเหตุการยิ้มเหงือกเยอะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการรักษาแก้ไขปัญหานี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นตาม 4 กลุ่มสาเหตุ ดังนี้:

1. เกิดจากภาวะฟันสั้น

  1. การแก้ไขตัดแต่งเหงือก: สามารถทำได้ด้วยการตัดเหงือก (Gingivectomy) หรือ การใช้เลเซอร์ในการนำเอาเหงือกส่วนเกินออกในกรณีที่เหงือกเกินออกมาไม่มาก
  2. การกรอกระดูก (esthetic crown lengthening): ใช้ในการกรอและตัดกระดูกส่วนเกินบริเวณเหงือกออก

2. เกิดจากกล้ามเนื้อริมฝีปากบนขยับมากเกินไป

  1. การฉีดโบท็อกซ์: ช่วยทำให้กล้ามเนื้อของริมฝีปากบนผ่อนคลาย ทำให้ไม่ยกริมฝีปากสูงเกินไปเวลายิ้ม
  2. การผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อยกริมฝีปาก: ช่วยทำให้ริมฝีปากบนสั้นลง ส่งผลให้สามารถคลุมเหงือกได้มากขึ้นเวลายิ้ม

3. เกิดจากภาวะเหงือกโต

  1. การแก้ไขตัดแต่งเหงือก: สามารถทำได้ด้วยการตัดเหงือก (Gingivectomy) หรือ การใช้เลเซอร์ในการนำเอาเหงือกส่วนเกินออกในกรณีที่เหงือกเกินออกมาไม่มาก
  2. การจัดฟัน: เพื่อปรับตำแหน่งการเรียงตัวของฟันให้ดูเป็นธรรมชาติ หากเหงือกที่โตออกมาเกิดมาจากการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ

4. เกิดจากความผิดปกติของขากรรไกร

สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน โดยจะต้องมีการผ่าตัดขากรรไกรบน (Lefort I osteotomy) ร่วมด้วยเสมอ ซึ่งหลังผ่าตัดแล้ว อาจจะมีการแก้ไข ด้วยการฉีด Botox ร่วมด้วย เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก และฝึกยิ้ม

สรุป

จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ยิ้มแล้วเห็นเหงือกเยอะนั้น มีหลายสาเหตุมาก และแต่ละสาเหตุอาจจะเกิดร่วมกันได้ เช่นเกิดจากขากรรไกรบนยาวร่วมกับภาวะฟันสั้น ถ้าลักษณะแบบนี้ก็ต้องแก้ไขด้วยทั้งการผ่าตัดขากรรไกร และตัดเหงือกร่วมด้วย การวินิจฉัยสาเหตุที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้ได้รับการรักษาที่ไม่ตรงกับสาเหตุของความผิดปกติ ทำให้ผลการรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

แชร์บทความนี้