ฟันซ้อนคืออะไร วิธีแก้ทำยังไง จัดฟันได้หรือไม่
ฟันซ้อน คือลักษณะฟันที่ขึ้นซ้อนทับกับฟันซี่อื่นๆ อย่างผิดปกติตามแนวเหงือกในปาก โดยภาวะความผิดปกตินี้ เป็นหนึ่งในการสบฟันที่ผิดปกติที่พบได้มากที่สุดและส่วนใหญ่สามารถพบได้ตรงฟันหน้า โดยสาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์และความผิดปกติของขนาดฟันในระหว่างขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์แล้ว ยังส่งผลต่อการใช้งานและการออกเสียงบางคำอีกด้วย
ในบทความนี้ เราจะมาดูว่าฟันซ้อนเกิดจากอะไร มีวิธีแก้อย่างไรบ้าง แล้วจำเป็นต้องถอนหรือไม่
สาเหตุ
- กรรมพันธุ์: ขนาดของกระดูกขากรรไกรและการเรียงตัวของฟันส่วนใหญ่จะส่งต่อผ่านทางกรรมพันธุ์ ซึ่งหากพ่อหรือแม่หรือทั้งสองมีภาวะฟันซ้อนนี้ ก็มีโอกาสสูงที่ลูกจะมีด้วย
- ความไม่สมส่วนของขนาดฟันและกราม: หากกรามมีขนาดเล็กหรือฟันมีขนาดใหญ่และไม่มีความสมส่วนกัน อาจทำให้มีพื้นที่ไม่พอให้ฟันขึ้นในแนวปกติ ทำให้เกิดภาวะนี้ได้
- นิสัยในวัยเด็ก: นิสัยในวัยเด็กเช่น การชอบดูดนิ้วหรือการชอบกัดฟันสามารถส่งผลต่อการขึ้นโดยธรรมชาติของฟันได้
- การสูญเสียฟัน: ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือจากปัญหาเกี่ยวกับช่องปากอื่นๆ ทำให้ฟันด้านข้างมีการเคลื่อนตำแหน่งและอาจซ้อนกับฟันอื่นได้
ผลกระทบ
ผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันและการใช้งานหากมีฟันซ้อนเกิดขึ้น มีดังนี้
- สุขภาพช่องปาก: ฟันซ้อนอาจทำให้การทำความสะอาด เช่น การแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันเป็นไปได้ยากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาฟันผุหรือปัญหาทางเหงือกได้
- การออกเสียง: การสบฟันที่ผิดปกติสามารถทำให้ออกเสียงบางคำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งส่งผลต่อความไม่มั่นใจในตนเอง
- การบดเคี้ยวอาหาร: ปัญหาฟันซ้อนอาจส่งผลต่อกาบดเคี้ยวหรือกัดอาหารได้ ทำให้ใช้งานฟันได้ไม่เต็มที่
- อาการปวดกรามและข้อต่อขากรรไกร: ปัญหาฟันซ้อนทำให้ขากรรไกรมีการใช้งานมากกว่าปกติ ทำให้อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยและปวดกราม และหากเป็นเรื้องรัง สามารถทำให้เกิดปัญหาข้อต่อขากรรไกรเสื่อมได้
วิธีรักษาแก้ไข
- การจัดฟัน: การจัดฟันเป็นวิธีการแก้ไขฟันซ้อนที่เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะเครื่องมือจัดฟันจะทำหน้าที่ดึงฟันกลับให้เข้าตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยหลักๆ จะเป็นการจัดฟันด้วยโลหะหรือเซรามิก ซึ่งการรักษานี้เหมาะสำหรับปัญหาฟันซ้อนทั้งเล็กและใหญ่
- การจัดฟันใส: เช่น การใช้ Invisalign ก็เป็นอีกทางเลือกที่เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยตัวเครื่องมือจะถูกจัดทำขึ้นมาเฉพาะในแต่ละเคส ทำให้ใส่พอดีกับตัวฟัน และจะทำหน้าที่คอยดันตัวฟันให้กลับเข้าที่ การรักษานี้เหมาะกับภาวะฟันซ้อนที่ไม่มากจนเกินไป
- การใส่รีเทนเนอร์: ในกรณีที่ฟันซ้อนเล็กน้อย การใส่แค่รีเทนเนอร์ก็เพียงพอที่จะช่วยดันฟันให้กลับเข้าตำแหน่งที่ถูกต้องได้
- การผ่าตัดขากรรไกร: ในกรณีที่ฟันขึ้นซ้อนมาก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้มีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย หากวินิจฉัยว่าปัญหานั้นเกิดจากการขากรรไกรที่ผิดปกติ โดยในการผ่าตัดนั้น ศัลแพทย์จะทำการเลื่อนตำแหน่งขากรรไกรให้เข้าที่ เพื่อทำให้มีพื้นที่เพียงพอในการเคลื่อนตัวของฟัน และส่วนใหญ่มักจะตามด้วยการจัดฟันหลังผ่าตัดเสร็จ
จำเป็นต้องถอนฟันหรือไม่
ปัญหาฟันซ้อนนั้นส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีการถอนฟัน โดยทันตแพทย์มักจะเลือกวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การจัดฟัน เป็นตัวเลือกแรกก่อน เพื่อพยายามทำให้ฟันกลับเข้าที่ แต่ในกรณีที่ฟันซ้อนกันมากกว่าปกติและมีพื้นที่ไม่พอในช่องปากให้ฟันเคลื่อนเข้าสู่ตำแหน่ง การถอนฟันก็จะเป็นตัวเลือกสุดท้ายในการรักษาแก้ไข