ภาวะคางยื่นคืออะไร เแก้ไขยังไง
คางยื่น หรือ ที่เรียกว่า ภาวะขากรรไกรล่างยื่น คือลักษณะของการสบฟันแบบฟันล่างครอมฟันบน ซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหานี้นั้น จะส่งผลทั้งต่อรูปลักษณ์ของใบหน้า การบดเคี้ยว และการพูดได้
สาเหตุ
- สาเหตุทางพันธุกรรม: เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะคางยื่น โดยผู้ป่วยมักจะมีบุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่มีลักษณะคางยื่นเช่นเดียวกัน โดยจะมียีนส์ที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมที่ควบคุมการเจริญของขากรรไกรส่งผลให้ขนาดขากรรไกรล่างใหญ่กว่าขากรรไกรบน
- ภาวะทางสิ่งแวดล้อม: มักจะพบในผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขบริเวณขากรรไกรบนหลายครั้ง จนขากรรไกรบนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ส่งผลให้ขากรรไกรล่างดูใหญ่เมื่อเทียบกับขากรรไกรบนที่ผิดปกติ
การสังเกตลักษณะ
ผู้ป่วยที่มีภาวะคางยื่น จะพบลักษณะที่ขากรรไกรล่างยื่นออกมามากเมื่อเทียบกับขากรรไกรบน การสบฟันจะมีลักษณะผิดปกติ คือมีลักษณะฟันล่างคร่อมฟันบน (คนทั่วๆไปจะเป็นฟันบนคร่อมฟันล่าง) อาจจะพบความผิดปกติอย่างอื่นได้อีก เช่น กัดฟันหน้าไม่ได้ ไม่สามารถกัดเส้นก๋วนเตี๋ยวให้ขาดด้วยฟันหน้าได้ หรืออาจจะมีปัญหาพูดไม่ชัดของบางคำได้
การรักษาแก้ไข
- การจัดฟันอย่างเดียว: การจัดฟันเพียงอย่างเดียวจะสามารถรักษาภาวะคางยื่นเล็กน้อย (pseudo class III occlusion) ให้ทำหลังการจัดฟันลักษณะการสบฟันกลับมาเป็นการสบฟันแบบปกติ คือ ฟันบนคร่อมฟันล่างได้แต่มุมองศาของฟันจะผิดปกติไป คือมีฟันหน้าบนที่ยื่นและมีฟันหน้าล่างที่งุ้มเข้ามากกว่ามุมองศาของฟันโดยทั่วไป และภาวะคางยื่นจะยังคงอยู่ (ฟันเข้าแต่คางไม่เข้า นั้นเอง)
- การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน: เหมาะกับรักษาในผู้ป่วยที่มีคางยื่นเยอะ ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียว หรือผู้ป่วยที่นอกจากต้องการให้การสบฟันเป็นปกติแล้วยังต้องการแก้ไขตำแหน่งของคางที่ยื่นออกมาด้วย (ทั้งการสบฟันและตำแหน่งของคางเข้าสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม) โดยในการรักษานี้ จะแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุ 18-20 ปี ขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่กระดูกขากรรไกรเริ่มหยุดการเจริญเติบโต จึงทำให้หลังการผ่าตัดแล้ว ขากรรไกรจะไม่เลื่อนกลับหรือเปลี่ยนตำแหน่ง