กรามค้าง ขากรรไกรค้าง เกิดจากอะไร วิธีแก้ทำไง

เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
นพ.ทพ. สุรัตน์ แสงจินดา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล จบการศึกษาทั้งจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์

กรามค้างหรือขากรรไกรค้าง คือ อาการที่อ้าปากแล้วหุบลงไม่ได้ หรือ อ้าปากแล้วหุบได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากข้อต่อขากรรไกร หรือ Temporomandibular joint (TMJ) เป็นอัมพาตชั่วคราว โดยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวด ขากรรไกรมีเสียงคลิก หรือรู้สึกว่ากรามหลุดจากตำแหน่ง

สาเหตุ

อาการกรามค้างนั้นสามารถเกิดมาได้จากหบายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นเฉียบพลันหรือเกิดมาจากอาการที่เกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกรเรื้อรัง ดังนี้:

  • ข้อต่อกระดูกขากรรไกรเสื่อม (TMD): ปัญหาข้อต่อกระดูกขากรรไกรเสื่อม (TMD) ทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบของกรามเกิดการอักเสบ ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือทำงานได้เต็มที่
  • ข้อต่อขากรรไกรเคลื่อน: หากข้อต่อขากรรไกรที่อยู่บริเวณหน้ารูหูเกิดการเคลื่อนที่หลุดออกจากตำแหน่งแบบเฉียบพลัน เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ ก็สามารถทำให้กรามค้างในตำแหน่งที่ผิดได้
  • การนอนกัดฟัน (Bruxism): ภาวะนอนกัดฟันเรื้อรังอาจทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบของขากรรไกรเกิดการอักเสบและทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพเวลาอ้าหรือหุบปาก
  • การอ้าปากที่กว้างเกินไปเป็นเวลานาน: เช่น การหาว การอ้าปากเวลาไปทำการรักษาทางทันตกรรม หรือ การกินอาหารคำใหญ่เกินไป สามารถทำให้กรามค้างแบบชั่วคราวได้
  • การเกรงหรือกระตุกของกล้ามเนื้อกราม: ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดหรือความผิดปกติของเส้นประสาทบนใบหน้า

เมื่อเกิดอาการ ควรทำยังไง

หากเกิดอาการข้อต่อขากรรไกรค้าง สิ่งที่ควรทำเบื้องต้น มีดังนี้:

  1. อย่าตื่นตระหนก ตั้งสติให้ดี เพราะหากวิตกกังวลมากไป อาจทำให้กรามเนื้อบริเวณกรามเกิดการหดตัวเพิ่มขึ้น
  2. ค่อยๆ ทำการนวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร โดยใช้ 2 นิ้ว นวดเบาๆ เป็นวงกลมบริเวณกล้ามเนื้อโดยรอบเพื่อผ่อนคลาย
  3. ทำการประคบร้อน โดยหาผ้าแช่น้ำอุ่นๆ ประคบตรงบริเวณกรามและกล้ามเนื้อโดยรอบ
  4. ค่อยๆ ทำการขยับกล้ามเนื้อกราม โดยขยับไปทางด้านข้างและขึ้นลงช้าๆ และงดกิจกรรมที่ต้องใช้งานขากรรไกร เช่น การอ้าปาก หรือเคี้ยวอาหาร
  5. หากมีอาการปวดร่วมด้วย สามารถบรรเทาอาการด้วยการรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ได้
  6. หากอาการกรามค้างไม่ดีขึ้นหรือปวดเพิ่มขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยสาเหตุและรักษาต่อไป

วิธีรักษาแก้ไข

  • การจัดตำแหน่งขากรรไกร: หากอาการกรามค้างเกิดจากข้อต่อขากรรไกรที่เคลื่อนหลุดจากตำแหน่ง ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากจะทำการจัดตำแหน่งขากรรไกรให้กลับเข้าที่ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย
  • การรักษาด้วยยา: ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำให้ทานยาแก้ปวดร่วมกับต้านการอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการ รวมไปถึงอาจมีการแนะนำให้ทำการฉีดโบท็อกซ์บริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวอาหารเพื่อลดการทำงานและอาการเกร็งลง
  • กายภาพบำบัด: การทำกายภาพบำบัดช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขากรรไกรและช่วยให้ข้อต่อทำงานลดลง
  • การใช้เครื่องมือ: การใส่เครื่องมือป้องกัน เช่น เฝือกสบฟัน สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนกัดฟันหรือขบฟันแรงก็สามารถช่วยได้
  • การผ่าตัดขากรรไกร: ในกรณีที่มีปัญหาโครงสร้างขากรรไกรผิดปกติหรือมีอาการเสื่อมอย่างรุนแรง อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาและอาจมีการจัดฟันร่วมด้วยหากมีปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ (อ่านเพิ่มเติม Suratorthosurgery)
  • การเจาะข้อต่อ (Arthrocentesis): เป็นการรักษาที่ช่วยลดความฝืดของข้อขากรรไกร โดยจะทำการรเจาะน้ำจากข้อต่อเพื่อระบายแรงดันออก ทำให้สามารถใช้งานข้อต่อขากรรไกรได้ดีขึ้น

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการเท้าคางหรือการนั่งหลังค่อมซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันต่อขากรรไกร
  • ระมัดระวังเวลาอ้าปาก หาว หรือเคี้ยวอาหารคำใหญ่
  • ฝึกผ่อนคลาย เช่น การทำโยคะหรือการทำสมาธิเพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ
  • ทำการรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นตั้นตอของกรามค้าง เช่น โรคข้อต่อขากรรไกรเสื่อม โรคนอนกัดฟัน เป็นต้น
  • ฝึกบริหารกรามและขากรรไกรเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยท่าออกำลังกายที่ถูกหลัก
  • เข้าพบทันตแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาขากรรไกรและดูแลสุขภาพฟันโดยรวม
แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง