ฟันสบเปิด (Open Bite) ฟันไม่สบกัน คืออะไร แก้ยังไง

เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
เขียนโดย นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา
นพ.ทพ. สุรัตน์ แสงจินดา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล จบการศึกษาทั้งจากคณะทันตแพทย์และคณะแพทย์

ฟันสบเปิด หรือ ที่เรียกว่า ภาวะการสบฟันแบบเปิด (Open bite) คือ ภาวะที่ฟันบนและฟันล่างไม่สบกันเมื่อปากปิดสนิท ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน มักเกิดขึ้นเฉพาะฟันหน้า (anterior open bite) ภาวะนี้ไม่เพียงส่งผลต่อความสวยงามของรอยยิ้ม แต่ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร พูดไม่ชัด รวมถึงภาวะนอนกรนร่วมด้วยได้

สาเหตุ

ฟันสบเปิดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้:

  1. พันธุกรรม: ลักษณะการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรที่ผิดปกติ อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้เกิดภาวะสบฟันแบบเปิดได้
  2. พฤติกรรมในวัยเด็ก: การดูดนิ้วหัวแม่มือ ดูดจุกนมหลอก หรือการใช้ลิ้นดันฟัน เป็นเวลานาน อาจทำให้ฟันเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติ
  3. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อลิ้น: การทำงานของกล้ามเนื้อลิ้นที่ผิดปกติ เช่น การกลืนที่ใช้ลิ้นดันฟัน (tongue thrust) อาจทำให้เกิดแรงดันต่อฟันและส่งผลให้เกิดปัญหานี้ได้
  4. การสูญเสียฟัน: การสูญเสียฟันแท้ก่อนเวลาอันควร อาจทำให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มเอียงเข้ามา และทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน

ผลกระทบ

หากปล่อยไว้ไม่ทำากรรักษา ฟันสบเปิดอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้:

  1. การที่ฟันไม่สบกันอาจทำให้เกิดปัญหาด้านการบดเคี้ยวอาหาร อันนำมาสู่การลดประสิธิภาพในการดูดซับสารอาหารในระยะยาว
  2. อาจทำให้พูดไม่ชัดหรือมีปัญหาการออกเสียงบางคำ
  3. ฟันที่สบไม่เท่ากัน ทำให้เพิ่มแรงกดทับในส่วนฟันที่สบกัน ทำให้ฟันส่วนนั้นอาจเกิดความเสียหายหรือสึกได้ในระยะยาว
  4. ปัญหาทางขอต่อของขากรรไกร ทำให้มีโอกาสขากรรไกรเสื่อม (TMD) หรือ อักเสบเรื้อรังได้ เพราะมีการใช้งานขากรรไกรด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป
  5. มีโอกาสทำให้เหงือกร่นได้ อันนำไปสู่ฟันโยก และอาจสูญเสียฟันในที่สุด
  6. กระทบเรื่องความสวยงาม ภาพลักษณ์ ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง

การรักษาแก้ไข

การรักษาภาวะสบฟันแบบเปิดขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของภาวะ โดยทั่วไปมีวิธีการรักษาดังนี้:

  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม: หากภาวะสบฟันแบบเปิดเกิดจากพฤติกรรมในวัยเด็ก เช่น การดูดนิ้ว การชอบใช้ลิ้นดันฟัน (Tongue thrust) ต้องทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการรักษาด้วยการจัดฟัน
  2. จัดฟัน: เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นหรือแบบถอดได้ สามารถช่วยจัดเรียงฟันให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และแก้ไขภาวะสบฟันแบบเปิดได้ แต่มักจะเป็นการรักษาที่ไม่คงทนถาวร สามารถกลับมาสบเปิดได้อีกเมื่อถอดเครื่องมือจัดฟันออก
  3. การผ่าตัดขากรรไกร: ในกรณีที่ภาวะสบฟันแบบเปิดเกิดจากความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร การผ่าตัดจะเป็นทางเลือกในการแก้ไข เพื่อให้ฟันสบกันได้อย่างเหมาะสม และยังช่วยลดโอกาสคืนกลับ (relapse) ของการสบเปิดหลังถอดเครื่องมือจัดฟันแล้ว โดยในการรักษา ต้องทำการผ่าตัดทั้ง 2 ขากรรไกร (2-Jaw surgery)

ซึ่งในการเลือกวางแผนการรักษา ผู้ป่วยควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

ข้อแตกต่างหลักจากฟันสบลึก

ฟันสบเปิดและฟันสบลึกนั้นเป็นภาวะการสบฟันที่ผิดปกติทั้งคู่ โดยฟันสบเปิด คือ ภาวะที่ฟันบนและฟันล่างไม่สบกันเมื่อปากปิดสนิท ในขณะที่ฟันสบลึก มีลักษณะฟันนบนคร่อมฟันล่างมากเกินไปจนเกือบมองไม่เห็น

ซึ่งถึงแม้ทั้งสองจะมีสาเหตุและวิธีการรักษาที่คล้ายกัน ข้อแตกต่างหลักๆ คือ ฟันสบลึกนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดของขากรรไกร ในขณะที่ฟันสบเปิดส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาทางพันธุกรรมและพฤติกรรมในช่องปากในวัยเด็ก ส่วนในการรักษา ฟันสบลึกในบางเคสสามารถรักษาให้หายได้จากการจัดฟัน ในขณะที่ฟันสบแบบเปิดนั้น จะต้องมีการผ่าตัดร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง